Warsaw Ghetto Uprising (1943)

การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโต (พ.ศ. ๒๔๘๖)

การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโตเป็นการลุกฮือครั้งแรกของชาวโปลเชื้อสายยิวในดินแดนภายใต้การยึดครองของเยอรมนีในยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นการก่อกบฏขององค์การต่อสู้ของชาวยิวหรือแซดโอบี (Jewish Fighting Organization; Zydowska Organizacja Bojowa–ZOB) ร่วมกับชาวยิวในวอร์ซอร์เกตโต (Warsaw Ghetto) เพื่อต่อต้านนาซีในการกวาดต้อนชาวยิวจากเขตวอร์ซอเกตโตไปค่ายกำจัดยิว (extermination camp) และค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่เทรบลิงกา (Treblinka) ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายนถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รวม ๒๘ วัน การลุกฮือครั้งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวยิวในค่ายกำจัดยิวและขบวนการต่อต้านนาซีในดินแดนที่เยอรมนียึดครอง การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโตเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ที่อาจหาญซึ่งแสดงออกถึงจิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้ของมนุษยชน

 หลังเยอรมนีบุกโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ได้ไม่นานนัก เยอรมนีก็เคลื่อนกำลังทัพโจมตีอย่างรวดเร็วจนยึดกรุงวอร์ซอได้เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน การยึดครองโปแลนด์ทำให้เยอรมนีมีประชากรยิวเพิ่มขึ้นอีกกว่า ๒ ล้านคน เยอรมนีจึงดำเนินการกวาดล้างชาวยิวและชาวโปลเชื้อสายยิวทันทีโดยให้หน่วยสังหารพิเศษเอสเอส (Special Killing Squads of the SS) กำจัดชาวยิวให้หมดและบังคับกวาดต้อนชาวยิวกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนไปรวมไว้ที่เขตวอร์ซอเกตโต หรือที่ฝ่ายนาซีเรียกว่า เขตพื้นที่อาศัยของชาวยิวในกรุงวอร์ซอ เป็นเกตโตชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเกตโตอื่นๆที่เยอรมนีจัดตั้งขึ้นในดินแดนที่ยึดครอง มีเนื้อที่เกือบ ๓.๔ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ย่านมูราเนา (Muranow) นอกกรุงวอร์ซอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ของโปแลนด์ที่ถูกเยอรมนียึดครอง (General Government of Germanoccupied Poland) ฮันส์ แฟรงค์ (Hans Frank)* ข้าหลวงใหญ่ที่ปกครองโปแลนด์สั่งการให้กวาดต้อนชาวยิวทั้งหมดในกรุงวอร์ซอและเขตปริมณฑลไปรวมไว้ที่เขตเกตโต ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ มีการสร้างกำแพงอิฐสูง ๓ เมตร ด้านบนกำแพงติดลวดหนามล้อมรอบวอร์ซอเกตโตทั้งมียามถืออาวุธคอยตรวจตรา ต่อมาในกลางเดือนพฤศจิกายน เยอรมนีตัดขาดการติดต่อระหว่างเกตโตกับโลกภายนอกและสั่งให้ฆ่าและยิงทิ้งใครก็ตามที่จะหลบหนีออกนอกกำแพง

 ในการบริหารปกครองเกตโตเยอรมนีมอบอำนาจการบริหารให้แก่สภายิว (Jewish Council; Judenrat) ซึ่งประกอบด้วยยิวอาวุโส ๒๔ คน โดยมีอาดัม เชียร์เนียคอฟ (Adam Czerniakov) ยิวอาวุโสสูงสุดเป็น


ผู้นำ เชียร์เนียคอฟเป็นอดีตวิศวกรและสมาชิกรัฐสภาโปแลนด์ ทั้งเคยเป็นครูสอนโรงเรียนอาชีวศึกษายิวเขาให้ความร่วมมือกับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและมักปฏิบัติตามคำสั่งและความต้องการของเยอรมนีที่ให้ใช้หน่วยตำรวจเกตโตยิว (Jewish Ghetto Police) ควบคุมดูแลชาวยิวในเกตโตกันเองเยอรมนียังควบคุมปริมาณเสบียงอาหารที่ส่งเข้าไปในเกตโตซึ่งทำให้เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารและการล้มป่วยด้วยความหิวโหยและท้องเสีย เด็ก ๆ อายุระหว่าง ๔–๘ ปี จึงมักหลบไปหาอาหารในเขตที่พักอาศัยนอกกำแพงและลักลอบขนกลับเข้ามาเท่าที่จะทำได้ซึ่งทำให้บรรเทาปัญหาความอดอยากได้บ้างอย่างไรก็ตามจำนวนผู้อดอยากที่เสียชีวิตในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยมีกว่า ๒,๐๐๐ คน เมื่อเยอรมนีสร้างห้องรมแก๊สขึ้นที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) และเทรบลิงกา ภายหลังการประชุมที่วันน์เซ (Wannsee Conference)* ได้ไม่กี่เดือน ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* ผู้อำนวยการสำนักงานกลางความมั่นคงแห่งไรค์ (Central Security Office of the Reich–RSHA) และหัวหน้าหน่วยเอสดี (SD)*หรือหน่วยงานความมั่นคงเอสเอส (SS Security Service) มีคำสั่งให้หน่วยเอสเอส (SS)* ใช้มาตรการเด็ดขาดในการกำจัดชาวยิวที่เรียกว่า การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)*

 หน่วยเอสเอสเริ่มอพยพชาวยิวในวอร์ซอเกตโตเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ก่อนดำเนินการเยอรมนีเรียกประชุมสภายิวให้เตรียมการเรื่องอพยพชาวยิวไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนทางตะวันออกเชียร์เนียคอฟได้รับคำสั่งให้จัดทำบัญชีชื่อผู้ที่ต้องอพยพพร้อมกับที่อยู่อาศัยในเกตโตและต้องเกณฑ์คนจำนวน ๖,๐๐๐ คน ต่อวันหากเขาไม่สามารถหาจำนวนคนได้ตามกำหนดจะมีการสังหารชาวยิววันละ๑๐๐คนซึ่งรวมทั้งลูกจ้างของสภายิวและภรรยาเชียร์เนียคอฟด้วย ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ประมาณว่าชาวยิวราว ๒๕,๐๐๐–๓๐๐,๐๐๐ คน ถูกกวาดต้อนไปตั้งถิ่นฐานซึ่งส่วนใหญ่พบจุดจบที่เทรบลิงกา ในเวลาอันรวดเร็วเชียร์เนียคอฟก็ตระหนักว่าการอพยพคือการส่งชาวยิวไปสังหารหมู่ เขาไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับและปลิดชีวิตตนเองด้วยการกินยาพิษมรณกรรมของเขาและข่าวการสังหารหมู่ผู้อพยพก่อนที่จะเดินทางถึงจุดหมายทำให้ชาวยิวตัดสินใจก่อกบฏเพื่อต่อต้าน องค์การใต้ดินชาวยิวหลายแห่งได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่าแซดโอบีหรือองค์การต่อสู้ของชาวยิวขึ้น สมาชิกแรกเริ่มมี ๒๐ คน แต่ในช่วงการลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโต จำนวนสมาชิกมีมากกว่า ๕๐๐ คน แซดโอบีพยายามติดต่อกับกองทัพปิตุภูมิโปแลนด์ (Polish Home Army) เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องอาวุธและสามารถติดต่อกันได้ในเดือนตุลาคมจนได้รับอาวุธจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากพอและส่วนใหญ่เป็นปืนพกกับลูกระเบิด

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* หัวหน้าหน่วยเอสเอสและผู้นำอันดับสองของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party–NSDAP; Nazi Party)* มีคำสั่งให้เตรียมการอพยพชาวยิวที่เหลือในเกตโตอีกประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวไปตั้งถิ่นฐาน การอพยพซึ่งหยุดชะงักลงประมาณ ๒ เดือน เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ในการอพยพครั้งนี้ชาวยิวในเขตเกตโตต่างตระหนักว่าจุดหมายปลายทางของการตั้งถิ่นฐานที่แท้จริงคือห้องรมแก๊สที่เทรบลิงกา องค์การต่อสู้ของชาวยิวและชาวยิวในเกตโตจึงตัดสินใจเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยการลุกฮือขึ้นสู้แทนการยอมจำนน เมื่อเยอรมนีดำเนินการกวาดต้อนชาวยิว ในวันที่ ๑๘ มกราคม การลุกฮือขึ้นสู้ด้วยอาวุธครั้งแรกก็เริ่มขึ้นทันทีกลุ่มก่อการไม่ได้คาดหวังว่าการลุกฮือที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการปกป้องตนเอง แต่ต้องการลุกฮือขึ้นสู้เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวยิวและเพื่อประท้วงการนิ่งเงียบของชาติพันธมิตรต่อการเข่นฆ่าชาวยิวการต่อสู้โจมตีดำเนินไปหลายวัน เยอรมนีสามารถกวาดต้อนบังคับชาวยิวได้เพียง ๕,๐๐๐ คน แทนเป้าหมายที่กำหนดไว้ ๘,๐๐๐ คน และมีชาวยิวถูกสังหาร ๖๐๐ คน เยอรมนีเริ่มตระหนักว่ากำลังเผชิญกับการต่อต้านของพวกยิวใต้ดินที่เข้มแข็งและตัดสินใจเลื่อนการอพยพจากเขตวอร์ซอเกตโตออกไปอีก ๒–๓ เดือน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้

 ในเดือนเมษายนต่อมา ฮิมม์เลอร์มีคำสั่งให้กวาดล้างเกตโตให้เร็วที่สุดและกำหนดการกวาดล้างเป็นวันที่ ๑๙ เมษายน ซึ่งตรงกับวันพาสโซเวอร์ (Passover) หรือวันที่ระลึกของการปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นทาสของอียิปต์ ฮิมม์เลอร์ต้องการให้กำจัดพวกยิวให้สิ้นซากภายใน ๓ วันเป็นอย่างช้าเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ในวันที่ ๒๐ เมษายน เช้าของวันที่ ๑๙ ตำรวจกว่า ๒,๐๐๐ คน และทหารหน่วยเอสเอส ๗,๐๐๐ นาย เคลื่อนกำลังเข้าไปในเกตโต สมาชิกแซดโอบีเกือบ ๖๐๐ คน และชาวยิวนับหมื่นคนผนึกกำลังกันลุกฮือขึ้นสู้ทันที เยอรมนีมีอาวุธที่ทันสมัยซึ่งรวมทั้งรถถังฝ่ายต่อต้านมีเพียงปืนซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนพกจำนวนน้อย ระเบิดมือ และระเบิดขวดที่เรียกว่า “โมโลตอฟ ค็อกเทล” (Molotov cocktail) พวกยิวตระหนักว่าหากต่อสู้แบบเผชิญหน้าโดยตรงกับเยอรมนีเป็นเสมือนการฆ่าตัวตาย พวกเขาจึงซ่อนตัวตามที่ต่าง ๆ บนหลังคา ห้องใต้หลังคา เพื่อซุ่มโจมตีกองกำลังเยอรมันที่เคลื่อนกำลังมาตามถนนและทางแยก ในวันแรกฝ่ายต่อต้านสามารถต้านการบุกของกองกำลังได้และบีบให้ฝ่ายรุกรานถอยร่นออกไปนอกกำแพงประมาณว่า เยอรมนีสูญเสียทหารกว่า ๑๐ นายเยอรมนีจึงเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอสเป็นนายพลเจอร์เกิน ชตรูพ (Jurgen Stroop) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนใจเหี้ยมและโหดร้าย

 ชตรูพปรับกลยุทธ์โจมตียิวใหม่โดยหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับกลุ่มต่อต้านเท่าที่จะสามารถทำได้เขาสั่งให้วางเพลิงเผาเกตโตทีละบล็อกและระเบิดอาคารที่อยู่อาศัยทีละหลัง ตลอดจนปิดทางออกทุกเส้นทาง ทั้งให้ฆ่าทุกคนที่เจอ ยิวนับหมื่นคนถูกเผาทั้งเป็นและบ้างสำลักควันไฟจนเสียชีวิต คนที่หนีรอดหากถูกจับได้จะถูกกวาดต้อนไปยังค่ายกักกัน ชตรูพจะบัญชาการการกวาดล้างจนมืดค่ำและมักออกจากเกตโตตอนไปทานอาหารเย็น หรือไม่ก็ช่วงเที่ยงคืน เขาเห็นว่าพวกยิวเป็นสัตว์ที่ต้องกวาดล้างให้สิ้นซาก


การปราบปรามที่รุนแรงดังกล่าวมีส่วนทำให้ฝ่ายต่อต้านที่รอดชีวิตจำนวนไม่น้อยตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม มีพวกยิวไม่มากนักที่สามารถหนีออกจากเกตโตทางท่อระบายน้ำโสโครกไปทะลุป่าใกล้เกตโตได้ การกวาดล้างและการต่อสู้ดำเนินไปรวม ๒๗ วัน จนนาซีสามารถยึดศูนย์บัญชาการรบของแซดโอบีได้ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม เจอร์เกินสั่งให้เผาโบสถ์ยิวใหญ่แห่งวอร์ซอ (Great Synagogue of Warsaw) ที่อยู่นอกเกตโตเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่มีเขตวอร์ซอเกตโตอีกต่อไป เขากล่าวอ้างว่าได้สังหารยิวกว่า ๖,๐๐๐ คน และจำนวนชาวยิวที่ถูกกวาดล้างมีมากกว่า ๕๖,๐๐๐ คน ชตรูพทำรายงานซึ่งเรียกว่า “รายงานชตรูพ” (Stroop Report) ให้รายละเอียดการลุกฮือและการกวาดล้างทุกขั้นตอน และมีภาพประกอบด้วย รายงานดังกล่าวในเวลาต่อมากลายเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)*

 เยอรมนีกำหนดการกวาดล้างยิวในวอร์ซอเกตโตเพียง ๓ วัน แต่ชาวยิวยืนหยัดต่อสู้นานกว่า ๑ เดือนแม้กองกำลังของยิวจะถูกทำลายภายในเวลาอันรวดเร็วแต่การต่อสู้ของชาวยิวที่ซ่อนตัวก็ยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโตไม่เพียงเป็นการลุกฮือครั้งแรกในเขตชานเมืองที่ใหญ่ที่สุดของการลุกฮือในดินแดนที่เยอรมนียึดครองเท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับการระลึกถึงมากที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* วันที่ ๑๙ เมษายน ที่เป็นวันแรกของการลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโตปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น “วันแห่งการรำลึกถึง” (Day of Remembrance) ซึ่งชาวยิวถือเป็นวันอาลัยและรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตและมีชีวิตรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ของฮิตเลอร์.



คำตั้ง
Warsaw Ghetto Uprising
คำเทียบ
การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโต
คำสำคัญ
- กองทัพปิตุภูมิโปแลนด์
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- การประชุมที่วันน์เซ
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- การลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโต
- ค่ายกักกัน
- นาซี
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- แฟรงค์, ฮันส์
- รายงานชตรูพ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-